โปรโตคอล
โปรโตคอล คือ กฎและข้อกำหนด ที่ใช้เป็นมาตรฐานในการติดต่อสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์บนระบบเครือข่าย หากไม่มีโปรโตคอลแล้ว คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะไม่สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้ อีกทั้งในระบบเครือข่ายเดียวกันจำเป็นต้องใช้โปรโตคอลเหมือนกัน ดังนั้นปัญหาในการติดตั้งซอฟต์แวร์ระบบเครือข่าย ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกใช้และปรับแต่งโปรโตคอลไม่ถูกต้อง ทำให้คอมพิวเตอร์ใน เครือข่ายไม่สามารถติดต่อกันได้
จากภาพจะสังเกตเห็นว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ A ไม่สามารถติดต่อกับคอมพิวเตอร์ B เพราะใช้โปรโตคอลต่างกัน แต่ถ้าคอมพิวเตอร์ B เปลี่ยนมาใช้โปรโตคอลเดียวกับคอมพิวเตอร์ Aจะทำให้สามารถติดต่อกันได้
การเลือกโปรโตคอลให้เหมาะสมกับการใช้งาน
โปรโตคอลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีอยู่มากมาย การเลือกใช้โปรโตคอลขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ประยุกต์ใช้บนเครือข่าย โปรโตคอลที่เหมาะสมกับงาน จะทำให้ระบบเครือข่ายของคุณมีประสิทธิภาพ บำรุงรักษาง่าย และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย
ตัวอย่างโปรโตคอลที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน
1. NetBEUI (NetBIOS Extended User Interface) เป็นโปรโตคอลที่เหมาะสำหรับระบบเครือข่ายขนาดเล็ก เนื่องจากโปรโตคอลนี้ใช้วิธีกระจายสัญญาณไปทั่วทั้งเครือข่าย ไม่สามารถหาเส้นทาง (Routable) ไปยังคอมพิวเตอร์ที่ร้องขอข้อมูลได้ ข้อดีของโปรโตคอลนี้คือ การติดตั้งซอฟต์แวร์เครือข่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน
2. IPX/SPX (Internet Packet Exchange) เป็นโปรโตคอลที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อนำไปใช้กับระบบเครือข่ายของ Netware โปรโตคอลนี้มีความสามารถในการหาเส้นทางได้ แต่ก็ไม่ดีเท่ากับ TCP/IP ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับเครือข่ายขนาดเล็กถึงระดับกลางเท่านั้น ปัจจุบัน Netware ได้พัฒนาความสามารถจนสามารถรองรับเครือข่ายขนาดใหญ่ และมีโปรโตคอลให้เลือกใช้หลากหลายขึ้น
3. TCP/IP (Transfer Control Protocol/ Internet Protocol) เป็นโปรโตคอลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายใน เครือข่ายขนาดใหญ่และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เนื่องจากมีความสามารถในการค้นหาเส้นทางไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ร้องขอข้อมูล จึงถูกใช้เป็นโปรโตคอลหลักในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ข้อเสียของโปรโตคอลนี้ คือ ต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโปรโตคอล TCP/IP การกำหนด IP Address อีกทั้งจะต้องมีการปรับแต่งค่าต่าง ๆ หลังจากการติดตั้งซอฟต์แวร์เครือข่าย
การกำหนดหมายเลข IP ADDRESS
ในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ต คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องจะต้องมีหมายเลขประจำเครื่อง หมายเลขนี้เรียกว่า IP Address IP Address ของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องที่อยู่บนเครือข่าย อินเทอร์เน็ตต้องไม่ซ้ำกัน ผู้ที่สร้างเครือข่ายต้องขอหมายเลข IP Address เพื่อนำมากำหนด ให้กับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่าย เช่น ในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เซอร์ฟเวอร์ ชื่อ nontri มีหมายเลข IP Address เป็น 158.108.2.71 ซึ่งถ้าพิจารณาจากตัวเลขชุดนี้ พบว่าจะมีการแบ่งเป็น 4 ฟิลด์ แต่ละฟิลด์ประกอบด้วยเลขฐานสอง 8 บิต โดยมีจุด (.) คั่นระหว่างกลุ่ม แต่เพื่อความสะดวกใน การสื่อความหมายจึงมีการเปลี่ยนเป็นเลขฐานสิบ
IP Address ทั้ง 4 ฟิลด์ มีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นหมายเลขประจำเครือข่าย กลุ่มที่ 2 เป็นหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย เนื่องจากเครือข่ายของแต่ละองค์กรมีจำนวนคอมพิวเตอร์ไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงมีการกำหนดวิธีการแบ่งหมายเลข IP Address ออกเป็นคลาส ได้ 3 คลาส คือ คลาส A คลาส B และคลาส C โดยคลาส A กำหนดให้ฟิลด์แรกเป็นหมายเลขประจำเครือข่าย ที่เหลืออีกสามฟิลด์จึงเป็นหมายเลขประจำเครื่องหรือเครือข่ายย่อย คลาส B กำหนดตัวเลขสองฟิลด์เป็นหมายเลขประจำเครือข่าย ที่เหลือเป็นหมายเลขประจำเครื่องหรือเครือข่ายย่อย คลาส C กำหนดตัวเลข สามฟิลด์เป็นหมายเลขประจำเครือข่าย ที่เหลือเป็นหมายเลขประจำเครื่องหรือเครือข่ายย่อย
หมายเลขประจำเครือข่าย หมายเลขประจำเครื่อง
การกำหนดหมายเลข IP Address นี้ ดูแลโดยองค์กรบริหารเครือข่าย หรือ Inter-NIC ปัจจุบันหมายเลขเหล่านี้ถูกแจกจ่ายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะหมดลงในอนาคต แต่ทางองค์กรบริหารเครือข่ายได้เตรียมแผนการขยายหมายเลขต่อไปในอนาคต
สำหรับในเครือข่ายอินทราเน็ต การกำหนดหมายเลข IP Address จะต้องใช้หมายเลขที่สงวนไว้โดยเฉพาะซึ่งมีอยู่หลายชุด ตัวอย่างเช่น 192.168.1.1 ถึง 192.168.1.254 สามารถใช้ เป็นหมายเลขประจำเครือข่ายอินทราเน็ตได้ ซึ่ง 3 ฟิลด์แรกเป็นหมายเลขประจำเครือข่าย ส่วนฟิลด์ที่ 4 เป็นหมายเลขของเครื่องในเครือข่ายซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ 1 ถึง 254 และหมายเลข Subnet Mask คือ 255.255.255.0
วันจันทร์, ธันวาคม ๒๔, ๒๕๕๐
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น